เมื่อวันเสาร์ที่ 2 พฤศจิกายน 2562 หน่วยงาน TDRI, กรมการขนส่งทางบก ร่วมกับกลุ่ม Mayday ได้จัด Workshop เรียงเบอร์ เพื่อร่วมกันหาแนวทางในการสร้างระบบเลขสายรถเมล์ขึ้นมาเพื่อใช้กับเส้นทางปฏิรูป 269 เส้นทาง ใน Workshop ครั้งนี้ผมได้มีโอกาสเข้าไปร่วมเสนอความคิดเห็นด้วย ซึ่งจะขอแบ่งกล่าวสรุปโดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นความคิดเห็นของกลุ่ม G10 ในงานนี้ และส่วนที่เป็นความเห็นของผมเอง ซึ่งไม่ได้เป็นในแนวทางเดียวกับกลุ่ม แต่ด้วยการนำเสนองานเป็นกลุ่มจึงยึดตามที่เสียงส่วนใหญ่เห็นชอบ ซึ่งในบทความนี้ผมจะนำเสนอรูปแบบกลาง ๆ ที่คิดว่าน่าจะประนีประนอมกับความต้องการที่ให้มีระบบ และวิถีประชาที่อยู่กับเลขสายที่ไม่มีระบบนี้มานาน
ข้อกำหนดที่ใช้ในการกำหนดเลขสาย
จะว่าไปงาน Workshop ครั้งนี้ก็เป็นโจทย์ที่ทางกรมการขนส่งทางบกกำหนดธงว่าอยากได้เลขสายในระบบวิธีคิดแบบใด ซึ่งตัวเลือกที่ให้มาใช้กำหนดระบบเลขสายประกอบไปด้วยตัวแปร ต่อไปนี้ (เอาเท่าที่จำได้นะ เสียดายที่ไม่ได้จดมา)
- ประเภทเส้นทาง (ทางด่วน, วงกลม, รถด่วน)
- โซนของสาย (รูปแบบเดียวกับ RGYB)
- สถานที่ต้นทางของสาย
- เวลาให้บริการ (รถตลอดคืน, รถเฉพาะกิจ)
- ประเภทรถที่ให้บริการ (รถธรรมดา, รถปรับอากาศ)
- ลักษณะเส้นทาง (รถในเขต, รถข้ามเขต, รถเข้ากลางเมือง)
นอกจากตัวเลือกที่ให้มานี้ ก็ยังมีการบ้านเพิ่มเติมที่เขาฝากเราคิดคือ จะนำเสนอเลขสายกันอย่างไรให้ผู้ใช้บริการรถโดยสารประจำทาง สามารถใช้งานได้ง่ายด้วย ผ่านสิ่งที่อยู่บนตัวรถ อันได้แก่ “ป้ายไฟ LED” หรืออุปกรณ์อื่นที่จะติดตั้งเพิ่มบนตัวหน้ารถ ซึ่งในส่วนนี้ผมจะไม่ขอกล่าวถึง เพราะผมมองว่ามันมีแนวทางปฏิบัติที่ดีอยู่แล้ว (และค่อนข้างเป็นสากล) ให้เลือกใช้ และผมมองว่าดูจะเป็นความฝันมากเกินไปที่จะไปกำหนดรายละเอียดเหล่านี้กับผู้ให้บริการ เพราะเพียงแค่ระบบตั๋วร่วมยังไปสั่งให้เขาทำไม่ได้เลย ของอะไรแบบนี้ก็น่าจะทำได้ยากเช่นกัน (แม้ว่าในอนาคตมันอาจจะเชื่อมโยงกับแหล่งผลประโยชน์อย่างอื่นได้ ซึ่งพอคิดเรื่องนี้ก็ทำให้คิดถึงแรงต้านทานที่จะเกิดขึ้นมาได้อีก)
ความคิดเห็นในฐานะกลุ่ม G10
กลุ่ม G10 เป็นกลุ่มสุดท้ายที่นำเสนอ ซึ่งแนวคิดหลาย ๆ อย่างได้ถูกนำเสนอไปในกลุ่มก่อนนี้แล้ว แต่เราก็พยายามนำเสนอในรายละเอียดส่วนที่ยังไม่มีกลุ่มอื่นพูดถึง โดยมีพื้นฐานจากการเลือกตัวแปร 2 ตัวมาใช้สร้างระบบเลขสายรถเมล์ ได้แก่
- ประเภทเส้นทาง (รถทางด่วน การเดินรถวนกลม)
- โซนของสาย (ยึดจากชื่อเส้นทาง ให้หลักแรกคือโซนต้นทาง หลักสองคือโซนปลายทาง หากอยู่ในโซนเดียวกันอาจจะไม่มีหลักสองหรือใช้เลข 0 หากมีสายเกิน 10 สายแล้ว)
จากข้อมูลนี้ เราจึงนำเสนอการใช้เลขสายรถเมล์ไม่เกิน 3 หลัก ด้วยแนวคิด
{เลขหนึ่งหลักระบุโซนต้นทาง}{เลยหนึ่งหลักระบุโซนปลายทาง}{เลขหนึ่งหลักระบุลำดับ}{อักษรหนึ่งตัวระบุประเภทเส้นทาง}
การกำหนดเลขให้กับโซนของสายนั้น พิจารณาโดยกางแผนที่กรุงเทพและปริมณฑลขึ้นมา ขีดแบ่งพื้นที่เป็น 8 โซน แล้วเลือกเอาหนึ่งโซนกำหนดเลข 1 แล้วจึงเดินตาม/ทวนเข็มนาฬิกาเพื่อใส่เลขให้ครบ ที่เลือกแค่ 1-8 เพราะจะสงวนเลข 0, 9 ไว้ใช้ในกรณีอื่น
- เลข 1-8 เป็นโซนที่ครอบคลุมกรุงเทพมหานคร รวมไปถึงนนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร, นครปฐม
- เลข 0 ที่ใช้ในหลักที่สองของเส้นทางจริง ๆ แล้วก็คือการระบุว่าสายนี้เป็นเส้นทางในโซนเดิม (ซึ่งอาจจะละไว้ทำให้เหลือ 2 หลัก แต่หากไม่พอก็ค่อยหยิบเลขนี้มาใช้)
- เลข 9 ไว้ใช้กับสายเฉพาะกิจ
ในช่วงแรกของการหาข้อสรุปมีการถกเถียงว่าจะใช้โซนของสาย หรือใช้สถานที่ต้นทางของสาย ซึ่งเมื่อพิจารณาข้อดี/ข้อเสียแล้ว การใช้สถานที่ต้นทาง จะค่อนข้างมีข้อจำกัดคือ เราจะรู้ได้แค่ว่าขึ้นสายที่มีเลข 2 หลักนี้นำหน้าจะได้ “กลับ” ไปต้นทางที่ไหน ซึ่งไม่ครบถ้วนในสาระของตัวเส้นทาง จึงเปลี่ยนไปใช้โซนของสายแทน
ในส่วนของเลขลำดับนั้นในทีแรกก็มีความคิดว่าจะเรียงตามลำดับความยาวของเส้นทาง แต่หากมีการปรับเปลี่ยนของเส้นทางการจะเรียงใหม่เพื่อกำหนดเลขใหม่ก็ดูเป็นภาระในการจดจำของชาวบ้าน จึงมีความคิดว่าเลขลำดับนี้เป็นเรื่องของการลงทะเบียนสายอย่างเดียว ไม่มีความหมายใดเป็นพิเศษ ซึ่งระบบนี้หากมีเส้นทางเกิน 10 สาย ก็อาจจะใช้การสลับโซนต้นทางและโซนปลายทางกันเพื่อเพิ่มเป็น 20 สายได้
ในส่วนของอักษรระบุประเภทเส้นทาง ในตอนแรกมีการคิดจะนำเสนออักษรของเส้นทางรถเสริมด้วยแต่เมื่อตกผลึกความคิด เราพบว่าป้ายไฟหน้ารถนั้นน่าจะทำหน้าที่ในเรื่องนี้มากกว่าการที่ใส่อักษรเข้าไปในเส้นทางเลย ซึ่งมันก็จะไปสร้างความรกบนป้ายรถเมล์อีก รวมถึงเส้นทางประเภทอื่นที่มีการพูดถึงเช่น Feeder ซึ่งเรามองว่ามันไม่ได้มีความจำเป็นที่ผู้โดยสารต้องรู้ จึงเลือกใช้อักษรแค่เฉพาะกรณีรถทางด่วน ใช้อักษร X และการเดินรถเป็นวงกลมใช้อักษร L และ R
ความคิดเห็นในฐานะส่วนตัว
ส่วนตัวของผมเอง ผมไม่ได้ขัดข้องกับการที่พยายามสร้างระบบเลขสายแบบใหม่ขึ้นมา เพราะเข้าใจว่ากรมฯ คงจะหวังดีที่ไม่อยากให้ผู้โดยสารต้องไปจดจำเลขสายกับชื่อเส้นทางให้มากมาย แต่ในที่สุดถ้ามันได้เลขสายแบบ 3-4 หลักขึ้นมา มันก็จะสร้างปัญหากับระบบป้ายรถเมล์อยู่ดีที่ต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับข้อมูลที่เพิ่มมากขึ้นนี้ และข้อจำกัดในปรับเปลี่ยนเส้นทางในภายหลัง เพราะหากเอาความคิดเรื่องต้นทางและปลายทางมาอยู่ในเลขสายเราก็จะอาจจะถูกจำกัดจำนวนสายระหว่างต้นทางและปลายทางนั้น ซึ่งผมมองว่ามันเป็นอุปสรรคที่ไม่จำเป็นต้องมี (เอาเข้าจริง ผมก็ยังไม่รู้แนวคิดการปรับเปลี่ยนเส้นทางของกรมฯ ว่าแค่ต้องการตัดสายที่ซ้ำซ้อนให้สั้นลงอย่างเดียว หรือมีวิธีคิดอื่น เช่นการเชื่อมโยงระหว่างโซนที่พอเหมาะด้วย เพราะตัวเส้นทางจริงก็ยังมิได้ถูกเปิดเผยกับสาธารณะ นอกจากชื่อเส้นทางเท่านั้น) รวมไปถึงการคงทนของเลขสายซึ่งก็ไม่ได้มีการพูดถึงกันเลยว่าหากสถานที่ที่ใช้เป็นจุดอ้างอิงของจุดต้นทาง-ปลายทางเปลี่ยนไป จะทำอย่างไรกับเลขสายดังกล่าว จะมีการเปลี่ยนเลขสายซึ่งสร้างภาระในการจำ/แก้ไขเอกสาร (ทั้งของทางการ/เอกชน) ที่อ้างถึงเส้นทางดังกล่าว หรือจะคงเลขสายไว้ตามเดิมซึ่งจะสร้าง “ข้อยกเว้น” ที่อาจจะขัดแย้งกับการสร้างระบบนี้แต่แรก
ผมเองคิดว่าการปรับเปลี่ยนเพียงเล็กน้อยก็น่าจะเพียงพอแล้ว จึงเป็นเหตุให้ผมหยิบตัวแปรดังที่ได้รับเสนอมาใช้แค่ 2 ตัวแปร นั่นก็คือ ประเภทเส้นทาง และการปรับเปลี่ยนเลขสายให้คงเอกลักษณ์ของเลขสายเดิม ทำให้ได้ระบบเลขสายดังนี้
{อักษรหนึ่งตัวระบุประเภทเส้นทาง (ถาวร)}{เลขสาย}{อักษรหรือสัญลักษณ์หนึ่งตัวระบุประเภทเส้นทาง (แบบเฉพาะกิจ)}
รถทางด่วน
สำหรับการกำหนดระบบเลขสายโดยยึดกับประเภทเส้นทางนั้น ผมมองว่าสายกลุ่มที่เกิดมาเป็นทางด่วนแต่แรก (และไม่พยายามปรับตัวเองให้เป็นรถทางล่าง ซึ่งทำให้สาย 102 ไม่อยู่ในเกณฑ์นี้เนื่องจากไม่ได้เกิดมาเป็นเส้นทางด่วนแต่แรก แต่กรณีสาย 107 เส้นทางล่างนั้นอาจจะมองว่าไม่ได้เป็นการตั้งใจเดินรถเท่าไรจึงยังอยู่ในเกณฑ์นี้) นั่นคือ สาย 107, 129, 138, 139, 140, 141, 142, 166, 180, 536, 538 น่าจะสามารถดึงออกมาปรับเป็นระบบสายเฉพาะทางด่วน โดยใช้อักษร E นำหน้า แต่การกำหนดเลขใหม่ให้กับแต่ละสายนั้นอาจจะต้องมีข้อคำนึงเพิ่มเติมเพื่อไม่ให้เลขสายไปชนกับสายรถธรรมดาที่ให้บริการในจุดที่ผ่าน เช่น
- สาย 129, 139, 142, 536 ไม่ควรจะเป็น E2, E7 เนื่องจากบนถนนเพชรบุรี และถนนสุขุมวิทมีสาย 2, 507 ให้บริการอยู่ อาจจะเกิดการสับสนกับผู้ใช้บริการที่อาจจะเดาสายจากความคุ้นเคยได้
- สาย 107 ไม่ควรเป็น E4 เพราะอาจจะสับสนกับสาย 4 ที่ให้บริการอยู่ที่คลองเตย
- สาย 138 ไม่ควรเป็น E3, E6, E8 เพราะอาจจะสับสนกับสาย 3, 8 ที่ให้บริการอยู่ที่สวนจตุจักรและ 6 ที่ให้บริการอยู่ที่พระประแดง
ทำให้ได้การปรับเปลี่ยนเลขสายดังนี้
สายใหม่ | สายเดิม | หมายเหตุ |
---|---|---|
E1 | 166 | เลียนแบบ ท.1 |
E2 | 138 | |
E3 | 180 | เลียนแบบ ท.30 |
E4 | 139 | เลียนแบบ ท.4 |
E5 | 140 | |
E6 | 141 | |
E7 | 107 | ให้มี 7 ลงท้าย |
E8 | 142 | |
E9 | 129 | ให้มี 9 ลงท้าย |
E10 | 536 | |
E11 | 538 |
ส่วนสายอื่น ๆ ที่มีเส้นทางทางด่วนเพิ่มมาจากเส้นทางธรรมดา ผมเห็นว่าน่าจะใช้แค่ E ต่อท้ายก็เพียงพอ ไม่จำเป็นต้องแยกสายออกมาเป็นเส้นทางใหม่ จึงทำให้มีสายเดินรถ เช่น 2E, 23E เกิดขึ้นได้ ซึ่งก็จะเป็นการระบุประเภทเส้นทางแบบชั่วคราว
รถวงกลม
สายที่น่าจะใช้ระบบประเภทเส้นทางอีกกลุ่มคือ เส้นทางวงกลม ได้แก่ 42, 53, 54, 56, 57, 111, 137, 146, 147, 156, 178, 197, 198, 710, 720 (ขอไม่กล่าวถึงสายที่ไม่มีสัมปทานเดินรถเป็นวงกลมแต่ไม่เดินรถ และสายที่ยุติการเดินรถแล้วเช่น 30, 64, 177, 196) สามารถจะกำหนดกลุ่มเลขสายวงกลมขึ้นมาก็ได้ โดยใช้ L แยกการวนซ้าย (ทวนเข็มนาฬิกา) และ R แยกการวนขวา (ตามเข็มนาฬิกา) และก็พิจารณาปัจจัยเลขสายที่อาจจะไปชนกับสายเดิมที่คุ้นเคยในย่านที่รถสายดังกล่าวผ่าน ทำให้ได้การปรับเปลี่ยนเลขสายดังนี้
สายใหม่ | สายเดิม |
---|---|
L/R 1 | 137 |
L/R 2 | 42 |
L/R 3 | 54 |
L/R 4 | 156 |
L/R 5 | 57 |
L/R 6 | 146 |
L/R 7 | 178 |
L/R 8 | 147 |
L/R 9 | 197 |
L/R 10 | 710 |
L/R 11 | 111 |
L/R 12 | 720 |
L/R 13 | 53 |
L/R 14 | 56 |
L/R 15 | 198 |
รถเสริม และเส้นทาง ก
ผมไม่คิดว่ารถเสริมควรจะใส่อักษรพิเศษใด ๆ ต่อท้าย แต่อาจจะใช้สัญลักษณ์เพิ่มเติมเพื่อให้ดูเด่นบนป้ายไฟแทน อาทิเช่นเครื่อง * ซึ่งน่าจะเหมาะกับการใช้บนป้ายไฟที่อยู่บนตัวรถและอาจจะไม่ปรากฎอยู่บนระบบป้ายรถเมล์
ในกรณีของเส้นทาง 7ก, 36ก, 73ก, 80ก, 84ก, 91ก, 95ก (ไม่นับรวมสายที่เลขใช้ ก ต่อท้ายในบางเส้นทาง) ผมมองว่าเป็นปัญหาของ ขสมก. ที่สร้างเลขเส้นทางชุดนี้ขึ้น (กรมการขนส่งไม่เคยกำหนดเลขสายรถมีอักษร ก ต่อท้าย) จึงมีความเห็นว่าเส้นทางเหล่านี้จะต้องถูกเปลี่ยนเลขสายตามสมควร ซึ่งอาจจะไม่เป็นแนวทางเดียวกันทั้งหมด เนื่องจากกรณี 36ก, 73ก, 95ก นั้นเป็นส้นทางที่ขยายจากเส้นทางเดิมของสายเดิม (95ก จริง ๆ ก็ไม่ถือว่าเป็นแบบนั้น แต่อาจจะอนุโลมว่า 95 ดั้งเดิมเริ่มจากบางเขน ไม่ใช่รังสิต) แต่กรณี 7ก, 80ก, 84ก, 91ก เป็นเส้นทางส่วนแยกของเส้นทางเก่า อาจจะต้องสำรวจความคิดเห็นเพิ่มเติมกับชาวบ้านว่าจะคงเลขสายนี้ไว้ หรือจะปรับเปลี่ยนโดยเส้นทางที่ตีความว่าไม่ใช่เส้นทางเดิม (เช่น 36ก, 73ก, 95ก) จะต้องกำหนดเลขสายให้ใหม่
เลขสายเก่าอื่น ๆ
ส่วนของการปรับให้คงเลขสายเดิมนั้น ผมไม่สามารถออกแบบระบบเลขสายได้หากผมไม่ทราบข้อจำกัดที่จะเกิดขึ้น ซึ่งในงาน Workshop ครั้งนี้ก็ไม่ได้มีการพูดถึงหลักการสร้างเส้นทางเลย มีแต่การพูดว่าลดความซ้ำซ้อนของเส้นทางเท่านั้น จึงคิดในแนวทางว่าไม่ต้องมีระบบอะไรในเลขสายเลยและคิดว่ามันไม่มีความจำเป็นที่จะต้องแก้ปัญหาของเลขสายที่ถูกข้ามไป จึงคิดว่าเส้นทางใหม่น่าจะเริ่มใช้เลข 601 (หากจะยังไม่เปลี่ยนแปลงเลขสายเก่า) ไปได้สำหรับรถทางธรรมดาและเอาเส้นทางใหม่เข้าร่วมกับระบบรถทางด่วน, รถวงกลมที่นำเสนอไปข้างต้นได้เลย แต่หากจะต้องการเรียงเลขและเริ่มนับหนึ่งใหม่หมด รถเส้นทางเดิมก็อาจจะปรับเปลี่ยนโดยนำอักษรหนึ่งตัวนำหน้า เช่น X หรือ O เพื่อให้รู้ว่านี่คือเส้นทางเดิม ซึ่งหากมีการเปลี่ยนไปเข้าสู่ระบบใหม่ในภายหลังก็สามารถเลิกเลขสายเดิมไปเลย
การเปลี่ยนแปลงนี้จำเป็นต้องวางแผนล่วงหน้าโดยแบ่งเป็นช่วงดังนี้
- ช่วงดึงสายเดิมมาเข้าระบบ E, L/R และใส่อักษรนำหน้าเลขสายเดิม ประกอบการปรับเปลี่ยนข้อมูลบนป้ายรถเมล์ให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงนี้ซึ่งน่าจะใช้ระยะเวลา 2-3 เดือนเพื่อความคุ้นเคย
- ช่วงยกเลิกเลขสายเดิม เป็นขั้นตอนที่อาจจะใช้ระยะเวลานานเป็นปี ซึ่งควรจะมีการทดลองลดความสำคัญของเลขสายเดิม โดยจากที่ติดเลขสายใหม่ควบคู่นั้นก็ค่อย ๆ ลดขนาดเลขสายเดิมหรือย้ายตำแหน่งให้ความสำคัญน้อยลง หรืออาจจะมีการทดลองยุติใช้เลขสายเดิมเป็นบางวัน/บางช่วงเวลาในสัปดาห์ เพื่อทดสอบการตอบรับของผู้ใช้บริการ ซึ่งต้องทำการปรับเปลี่ยนข้อมูลบนป้ายรถเมล์ตามไปด้วย
นี่ก็เป็นข้อเสนอในส่วนของผมเองที่คิดว่าน่าจะประนีประนอมเพียงพอกับการเปลี่ยนแปลงระบบเลขสายรถเมล์ที่จะใช้กับเส้นทางปฏิรูปชุดใหม่นี้
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.