หมายเหตุ: แนวคิดเรื่องปรับปรุงเลขสายนี้ได้พักการดำเนินการในส่วนของการเปิดสายใหม่คู่ขนานกับสายเดิมเมื่อ 16 กันยายน 2560
เป็นประเด็นที่น่าสนใจ เมื่อกรมการขนส่งทางบกในฐานะผู้กำกับดูแลการประกอบการเดินรถในกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง ได้ทำการปฏิรูปเส้นทางเดินรถแทนที่เส้นทางเดิม โดยได้กำหนดเส้นทางเดินรถขึ้นมาใหม่ 269 เส้นทาง ลำพังแค่ต้องมานั่งจำเส้นทางใหม่ก็เป็นภาระผู้โดยสารแล้ว เนื่องจากทางกรมฯ เองก็ยังไม่ได้มีการประกาศตัวเส้นทางออกมาอย่างเป็นทางการ แต่สิ่งที่ดูจะเป็นที่พูดถึงมากเป็นพิเศษก็คือ เลขสายที่ไม่เหมือนเดิม จากที่ใช้ระบบตัวเลขล้วน เป็นการใช้อักษรผสมเลขแบบงง ๆ เราจะมาทำความเข้าใจถึงวิธี/วิธีจำตัวเลขสายในระบบที่กรมฯ เลือกใช้งานนี้
ระบบเลขสายในอดีต
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่กรมการขนส่งทางบก ใช้ระบบเลขสายในลักษณะที่มีทั้งอักษรผสมเลข ในอดีตถ้ายังจำกันได้ เราอาจจะเคยเห็น
- สาย ปอ.9 (นนทบุรี-บางแค)
- สาย ปอ.12 (จตุจักร-ปากคลองตลาด)
- สาย ปอ.23 (พระประแดง-นนทบุรี)
- สาย ปอ.พ.4 (ร่มเกล้า-ตลิ่งชัน)
- สาย ปอ.พ.10 (หมู่บ้านเศรษฐกิจ-หมู่บ้านนักกีฬาแหลมทอง)
- สาย ป.23 (รอบเมือง เทเวศร์)
- สาย ป.25 (รอบเมือง ถนนรัชดาภิเษก)
- สาย ร.44 (ปากเกร็ด-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต)
- สาย ท.1 (ทางด่วน เมืองทองธานี-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ)
- สาย ท.4 (ทางด่วน มหาวิทยาลัยรามคำแหง 2-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ)
- สาย ท.30 (ทางด่วน มหาวิทยาลัยรามคำแหง 2-สาธุประดิษฐ์)
เลขสายที่ยกตัวอย่างมาทั้งหมดนี้ เป็นตัวอย่างการใช้ตัวอักษรผสมตัวเลขของกรมฯ ซึ่งการใช้อักษรแต่ละครั้งก็จะมีการอธิบายความหมาย เช่น ปอ.-ปรับอากาศ, ปอ.พ.-ปรับอากาศพิเศษ, ป.-ปฏิรูปแกน, ร.-รองรับแกน, ท.-ทางด่วนแกน เป็นต้น
การนิยามเลขสายในลักษณะนั้นเหมาะสมในบางช่วงเวลา เช่น ปอ. นั้น ในอดีตสายรถธรรมดา และรถปรับอากาศถูกแบ่งแยกอย่างชัดเจน แต่เมื่อสายรถธรรมดาเริ่มเดินรถปรับอากาศ ความสับสนก็เกิดขึ้น ผู้โดยสารพูด “ปอ-ออ 1” ซึ่งอาจจะตีความได้ทั้งรถปรับอากาศสาย ปอ.1 (คลองจั่น-ปากคลองตลาด) หรือ รถปรับอากาศของสาย 1 (ถนนตก-ท่าเตียน) ก็ได้เนื่องจากว่าผู้โดยสารก็ไม่ได้เข้มงวดในการเรียกชื่อเท่ากรมฯ ดังนั้นในเวลาต่อมา กรมฯ ก็เลยยกเลิกการเรียกสาย ปอ. โดยปรับสาย ปอ. ทั้งหมดให้กลายเป็นสายรถหมายเลข 501-545 (สาย 547 เป็นรถสายแรกที่ไม่ได้เกิดจากการแปลงสาย ปอ. เดิม)
ระบบเลขสายที่จะนำมาใช้
ครั้งนี้เป็นอีกครั้งที่กรมการขนส่งทางบก ได้นำอักษรกับตัวเลขมาใช้ตั้งเลขสาย โดยระบบคิดมีดังนี้
{อักษร}{ตัวเลข}{อักษร -- อาจจะไม่มีก็ได้}
อักษรตัวแรกนั้นเป็นอักขระละติน มาจากการแบ่งพื้นที่บริการเส้นทางโดยแบ่งเป็นสี 4 สี
- เหลือง-Y
- เขียว-G
- แดง-R
- น้ำเงิน-B
ตัวเลข ก็คือตัวเลขลำดับ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกันกับอักษรตัวแรก (Y1, G1, R1, B1)
ส่วนอักษรตัวหลัง อาจจะมีหรือไม่ก็ได้ เป็นอักษรที่ใช้อธิบายเส้นทางที่มีความพิเศษ เช่น ทางด่วน-E, รถวงกลม-L และ R
วิธีจำ
จากคำอธิบายนั้นจริง ๆ ผู้โดยสารจำแค่
อักษรตัวแรก และ เลขลำดับ
ก็เพียงพอแล้ว ซึ่งหากคิดเช่นนี้ก็ดูไม่เป็นภาระต่างไปจากระบบเลขสายที่ใช้เฉพาะตัวเลขเลย เพียงแต่อักขระละตินที่เลือกใช้นั้นอาจจะดูไม่เป็นมิตรกับผู้ที่ไม่ได้คุ้นเคยเท่าไร ซึ่งทางอธิบดีกรมการขนส่งทางบก ได้ให้ความเห็นในทำนองว่า “อย่างไรก็ต้องภาษาอังกฤษ จะให้มีทั้งอักษรไทยและอังกฤษน่าจะเพิ่มความสับสนมากกว่า และสุดท้ายถึงออกภาษาไทยไปอย่างเดียวก็ต้องเปลี่ยนเป็นภาษาอังกฤษอยู่ดี”
คำวิจารณ์
โดยส่วนตัว รู้สึกไม่ค่อยเห็นด้วยที่จะต้องมีอักษรตัวแรก เนื่องจากมันเป็นเรื่องการบริหารเส้นทางล้วน ๆ ซึ่งไม่ได้มีประโยชน์กับผู้โดยสารเลย (จะทำสีรถเป็นสีอะไรก็ทำไปซิ) และการใช้อักษรแบ่งแยกแบบนี้มันอาจจะมีผลกับการพัฒนาเส้นทางในอนาคตด้วย หากมีการขยายเส้นทางออกไปแล้วการบริหารงานเปลี่ยนไป กรมฯ จะยุบสายเดิมของสีเก่าทิ้งแล้วเปิดเป็นสายใหม่ของอีกสีรึเปล่า? ซึ่งผลลัพธ์นี้ก็ทำให้ผู้โดยสารต้องจำเลขสายกันใหม่อีก ไหนจะต้องมาประชาสัมพันธ์ซึ่ง ณ ปัจจุบันทางกรมฯ ดูจะไม่แสดงออกว่ามีความพร้อมที่จะประชาสัมพันธ์เส้นทางเท่าไร (เว็บกรมฯ ยังไม่มีข้อมูลสายเดินรถให้ตรวจสอบเลย)
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.