ป้ายประจำรถโดยสารประจำทางหลายภาษา

การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ทำให้หน่วยงานต่าง ๆ พากันขยับเรื่องการต้องทำป้ายต่าง ๆ ให้รองรับกับภาษาอังกฤษที่เป็นภาษากลางของ AEC บริการขนส่งสาธารณะ เช่น รถโดยสารประจำทาง ก็มีการจัดทำป้ายประจำรถเช่นกัน แต่ก็ยังพบความไม่เรียบร้อยในแบบที่ควรจะเป็นทั้งที่ก็ผ่านระยะเวลามาได้พักหนึ่งแล้ว

ปัญหาที่พบบนป้ายประจำรถ

ขสมก. มีป้ายอังกฤษแล้ว, เอกชนล่ะมีหรือยัง?

พบว่าป้ายประจำรถที่ได้มีการทำเป็นหลายภาษานั้นมีกับเฉพาะรถประจำทางคันใหญ่ของ ขสมก. อย่างเดียว รถเอกชนยังไม่ได้ดำเนินการในส่วนนี้ รวมถึงรถประเภทอื่น ๆ ทั้ง สี่ล้อเล็ก, และรถตู้ ปัญหาเรื่องนี้อาจจะเกิดจากการขาดกฎระเบียบไปบังคับให้ต้องทำ รวมถึงผู้ประกอบการอาจไม่ได้มองว่าภาษาอังกฤษเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเราก็พบเห็นรถเอกชนบางสายที่มีป้ายประจำรถเป็นภาษาพม่าเช่นกัน เนื่องจากว่าเส้นทางผ่านย่านที่ชาวเมียนมาร์อาศัยอยู่อย่างหนาแน่น

ป้ายภาษาอังกฤษที่มี อ่านรู้เรื่องไหม?

ปัญหาต่อมาเมื่อมีป้ายแล้ว คุณภาพของป้ายนั้นยังไม่ได้มาตรฐานที่ดีพอ เราจะได้พบเห็นป้ายที่แปลชื่อเส้นทางแบบงง ๆ ตัวอย่างเช่น รถสาย 136 ที่มีป้ายหน้ารถ “ไปหมอชิต 2”, “ไปคลองเตย” แต่แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า “MORCHIT 2 GO”, “KHLONG TOEY GO” หรืออย่างสาย 53 “เทเวศร์ รอบเมือง” ซึ่งแปลเป็น “THEWET ROUND-TOWN” การแปลนี้ยังไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจน เหมือนจะปล่อยให้แต่ละอู่ไปจัดการกันเอง ไม่ได้มีการประชุม, จัดตั้งทีมงานในการแปลให้เป็นกิจลักษณะ ซึ่งก็อาจจะต้องไปขอความช่วยเหลือจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือกองการท่องเที่ยวกรุงเทพมหานคร ให้มาช่วยกำหนดชื่อสถานที่ให้เหมาะสม

นี่ยังไม่นับรวมขนาดป้ายที่ใช้งานว่ามีขนาดที่เล็กเกินไปที่จะยัดข้อความลงไปทั้ง 2 ภาษาและยังสามารถอ่านได้ดีในระยะที่พอจะมองเห็นในระยะไกลได้ รวมถึงการเลือกแบบอักษรที่เอามาใช้ ซึ่งก็ยังเป็นติดกับการทำป้ายพ่นสีทำให้ยังไม่มีรูปแบบตัวอักษรอื่น ๆ ให้ใช้งานมากนัก

ป้ายข้างรถ ทำให้ใครอ่าน?

นอกจากป้ายหน้ารถแล้ว ยังมีป้ายข้างรถซึ่งเป็นป้ายที่ใช้บรรยายเส้นทางที่รถสายนั้นผ่าน ขนาดของป้ายข้างรถนั้นก็แล้วแต่รุ่นรถอีก รถบางรุ่นป้ายหน้ารถกับข้างรถนี่แทบจะขนาดไม่ต่างกันเลย (คือเล็กมาก) รวมถึงมีการบดบังจากสติ้กเกอร์โฆษณา ทำให้พื้นที่ป้ายที่ควรจะใหญ่กลับยิ่งเล็กลงไปอีก

ถ้าแก้ปัญหาเรื่องขนาดป้ายรวมถึงตัวอักษรที่ต้องใช้แล้ว สิ่งที่ต้องสนใจก็คือเนื้อหาที่อยู่บนป้าย รถบางสายป้ายภาษาไทยก็ทำแบบขอไปที แทบจะไม่ได้ระบุรายละเอียดเส้นทางเลย เหมือนกับเอาสิ่งที่พ่นบนป้ายหน้ารถมาพ่นข้างรถซ้ำอีกที ซึ่งสิ่งที่ได้คือ ต้นทาง – ปลายทาง เท่านั้น พอมาทำป้ายภาษาอังกฤษถ้ายังทำแบบเดิมเราก็คงได้ป้ายที่ไม่มีข้อมูลที่เพียงพออีกเช่นกัน รถบางสายผ่านสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งแต่ในป้ายภาษาไทยไม่ได้กล่าวถึงอาจจะเพราะมันไม่ได้สำคัญกับคนไทยมาก พอมาทำเป็นป้ายภาษาอังกฤษเราควรจะแปลป้ายไทยเป็นอังกฤษเลย หรือว่าทำป้ายอังกฤษโดยเฉพาะให้มีการระบุชื่อสถานที่ท่องเที่ยวมากกว่าป้ายภาษาไทย ประเด็นนี้ก็น่าจะต้องผ่านการพูดคุยกับหลาย ๆ หน่วยงานเช่นกัน

ทำป้ายประจำรถอย่างไรถึงดี?

จากที่ประมวลความคิดมาทั้งหมดนั้น ป้ายประจำรถอาจจะไม่ใช่ความรับผิดชอบของ ขสมก. อย่างเดียว แต่เป็นเรื่องที่น่าจะได้รับการกำกับมาจากหน่วยงานที่ออกสัมปทานรถ เพราะย่อมรับทราบรายละเอียดเส้นทางเป็นอย่างดี คนที่น่าจะแปลภาษาได้ดีน่าจะเป็นหน่วยงานเกี่ยวกับการท่องเที่ยว เพราะเข้าใจว่าป้ายที่ไม่ใช่ภาษาไทยก็น่าจะเอามาตอบโจทย์นักท่องเที่ยวเป็นหลัก เพราะถ้าเป็นคนทำงานก็น่าจะรู้รายละเอียดของเส้นทางอยู่แล้ว เมื่อมีเจ้าภาพจัดการและนำมาบังคับให้ผู้ประกอบการใช้ป้ายที่มีเนื้อหาที่เหมาะสม ก็จะทำให้ป้ายประจำรถนี้มีประโยชน์และใช้ได้จริง


Posted

in

by

Comments

Leave a Reply