เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2562 เป็นวันแรกที่มีการใช้งานประกาศอัตราค่าโดยสารรถโดยสารประจำทาง อันเนื่องจากการอนุมัติการปรับอัตราค่าโดยสารของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ในการประชุมครั้งที่ 10/2561 เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2561 (ซึ่งแต่เดิมให้มีผลบังคับใช้วันที่ 21 มกราคม 2562) การปรับอัตราค่าโดยสารครั้งนี้ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมายและความสับสน เนื่องจากไม่ได้เป็นการปรับขึ้นราคาในรูปแบบที่คุ้นเคยกัน ผมจะขอสรุปเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนขึ้นว่าการปรับอัตราค่าโดยสารครั้งนี้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นบ้าง
รถโดยสารประจำทางที่มีการปรับค่าโดยสาร
- รถ หมวด 1
- รถในกำกับของ ขสมก. ทั้งรถธรรมดา, รถปรับอากาศ
- รถเส้นทางปฏิรูป (เช่น R26E, Y70E)
- รถตู้โดยสารประจำทาง
- รถ หมวด 4
- รถสองแถว/มินิบัส ในกำกับของ ขสมก. (สีเลือดหมู)
- รถเอกชนที่ขึ้นตรงกับกรมการขนส่งทางบก (เช่น 1009, 1013 ซึ่งมีการเดินรถปรับอากาศ)
การปรับอัตราค่าโดยสารนี้แยกตามประเภทมาตรฐานการจดทะเบียนรถ
รถโดยสารธรรมดา (หมวด 1)
- รถโดยสารธรรมดา มาตรฐาน 3 (ครั้งนี้ไม่มีการแยกสีครีมแดง, สีขาวน้ำเงิน, สีชมพู, มินิบัส) ให้ปรับอัตราค่าโดยสารตลอดสายไม่เกิน 10 บาท (ขสมก. จัดเก็บแค่ 8 บาท) เป็นการปรับขึ้น 1 บาทของรถเอกชนร่วมบริการ แต่ 1.50 บาทของรถ ขสมก. ซึ่งแต่เดิม ขสมก. จัดเก็บค่าโดยสาร 6.50 บาท ซึ่งต่ำกว่าเพดานคือ 8 บาท
- รถโดยสารธรรมดา มาตรฐาน 3 (สีส้ม) และต้องเป็นรถใหม่หรือรถที่มีอายุการใช้งานมาแล้วไม่เกิน 2 ปีนับตั้งแต่วันจดทะเบียนครั้งแรกจนถึงวันที่ 21 มกราคม 2562 และจะต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกและความปลอดภัยเช่น GPS กล้อง CCTV และ E-Ticket เป็นต้น ให้ปรับอัตราค่าโดยสารตลอดสายไม่เกิน 12 บาท (ขสมก. ยังไม่มีการเดินรถด้วยรถรุ่นนี้)
รถโดยสารธรรมดา คิดค่าโดยสารโดยไม่รวมค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ได้แก่
- ค่าบริการเดินรถบนทางด่วน 2 บาท (ไม่มีการเปลี่ยนแปลง)
- ค่าบริการเดินรถระหว่าง 23:00 – 05:00 นาฬิกา 1.50 บาท (ไม่มีการเปลี่ยนแปลง)
- ค่าบริการรถด่วน 1 บาท (ขสมก. ไม่ได้ดำเนินการแล้ว)
การลดอัตราค่าโดยสาร สามารถลดได้ไม่เกินร้อยละ 20 ของอัตราขั้นสูง ทำให้ ขสมก. สามารถเก็บค่าโดยสาร 8 บาทได้
รถโดยสารปรับอากาศ (หมวด 1)
- รถโดยสารปรับอากาศ มาตรฐาน 2 (สีครีมน้ำเงิน) ที่เดิมใช้ตารางค่าโดยสารระยะ 0-8 กิโลเมตรแรก 12 บาท (ขสมก. จัดเก็บแค่ 10 บาท) ปรับค่าโดยสาร 2 บาททุก 4 กิโลเมตร ค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท (ขสมก. จัดเก็บแค่ 18 บาท) ใช้อัตราใหม่เป็นระยะ 0-8 กิโลเมตร 13 บาท (ขสมก. จัดเก็บ 12 บาท) ปรับค่าโดยสาร 2 บาททุก 4 กิโลเมตร ค่าโดยสารไม่เกิน 21 บาท (ขสมก. จัดเก็บแค่ 20 บาท) เป็นการปรับขึ้น 1 บาทของรถเอกชนร่วมบริการ แต่ 2 บาทของรถ ขสมก.
- รถโดยสารปรับอากาศ มาตรฐาน 2 (รถโดยสารปรับอากาศชั้น 2 มาตรฐาน EURO หรือเทียบเท่า – รถสีส้ม, สีฟ้า, สีเหลือง) ที่เดิมใช้ตารางค่าโดยสารระยะ 0-4 กิโลเมตรแรก 13 บาท (ขสมก. จัดเก็บแค่ 10 บาท) ปรับค่าโดยสาร 2 บาททุก 4 กิโลเมตร ค่าโดยสารสูงสุด 25 บาท ใช้อัตราใหม่เป็นระยะ 0-4 กิโลเมตรแรก 14 บาท (ขสมก. จัดเก็บแค่ 13 บาท) ปรับค่าโดยสาร 2 บาททุก 4 กิโลเมตร ค่าโดยสารไม่เกิน 26 บาท (ขสมก. จัดเก็บแค่ 25 บาท) เป็นการปรับขึ้น 1 บาทของรถเอกชนร่วมบริการ แต่ 2 บาทของรถ ขสมก.
- รถโดยสารปรับอากาศ มาตรฐาน 2 (สีฟ้า) เครื่องยนต์มาตรฐานไอเสียขั้นต่ำยูโรวันหรือยูโรทู และต้องเป็นรถใหม่หรือรถที่มีอายุการใช้งานมาแล้วไม่เกิน 2 ปีนับตั้งแต่วันจดทะเบียนครั้งแรกจนถึงวันที่ 21 มกราคม 2562 และจะต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกและความปลอดภัยเช่น GPS กล้อง CCTV และ E-Ticket เป็นต้น ให้ใช้อัตราค่าโดยสารระยะ 0-4 กิโลเมตรแรก 15 บาท ระยะ 4-18 กิโลเมตร 20 บาท และระยะตั้งแต่ 18 กิโลเมตรขึ้นไป ไม่เกิน 25 บาท เป็นการประกาศบันไดค่าโดยสารแบบใหม่
รถโดยสารปรับอากาศ ให้จัดเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม สำหรับ
- การเดินรถบนทางด่วน 2 บาท
การเดินรถระหว่าง 23:00 – 05:00 นาฬิกา 1.50 บาท (ยังไม่มีเส้นทางใดที่มีเงื่อนไขการเดินรถกลางคืนด้วยรถปรับอากาศ)
การลดอัตราค่าโดยสาร สามารถลดได้ไม่เกินร้อยละ 20 ของอัตราขั้นสูง ทำให้ ขสมก. สามารถลดค่าโดยสารได้ 1 บาทจากราคาที่ปรากฏในตารางค่าโดยสาร ซึ่งจริง ๆ แล้วรถรุ่นใหม่สามารถเก็บค่าโดยสารถูกกว่าที่แสดงในตารางนี้ได้ (ดูอัตราค่าโดยสารไม่รวมค่าธรรมเนียมด้านล่าง) เช่น 14 ((9-1) + 6), 18 ((12-2) + 8), 22 ((15-3) + 10) บาท ซึ่งหากใช้สูตรนี้จะเห็นว่าค่ารถปรับอากาศทั้งรุ่นเก่าและใหม่เมื่อนั่งระยะไกลราคาจะถูกลงด้วย
รถตู้ (หมวด 1)
รถตู้โดยสาร แต่เดิมใช้อัตรา 10 กิโลเมตรแรก กิโลเมตรละไม่เกิน 1 บาท ส่วนที่เกิน 10 กิโลเมตร กิโลเมตรละ 0.6 บาท และก็มีการเพิ่มค่าโดยสารเริ่มต้น 2 บาท (ตอนนี้ไม่แน่ใจว่าเพิ่มเริ่มต้นเป็นเท่าไร และมีการปรับอัตราค่าโดยสารช่วง 10 กิโลเมตรแรกและหลังจากนั้นอย่างไร) ให้ปรับค่าโดยสารตามตารางที่แสดงบนรถโดยสาร แต่จะมีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม สำหรับการเดินรถบนทางด่วนด่านละ 5 บาท
รถโดยสารหมวด 4
- รถโดยสารธรรมดา มาตรฐาน 3 ที่เดิมใช้อัตราค่าโดยสารตลอดสายไม่เกิน 9 บาท ให้ปรับอัตราค่าโดยสารตลอดสายไม่เกิน 10 บาท เป็นการปรับขึ้น 1 บาท
- รถโดยสารปรับอากาศ มาตรฐาน 2 ที่เดิมใช้ตารางค่าโดยสารระยะ 0-8 กิโลเมตรแรก 10 บาท ปรับค่าโดยสาร 2 บาททุก 4 กิโลเมตร ค่าโดยสารสูงสุด 18 บาท ใช้อัตราใหม่เป็นระยะ 0-8 กิโลเมตร 11 บาท ปรับค่าโดยสาร 2 บาททุก 4 กิโลเมตร ค่าโดยสารไม่เกิน 19 บาท เป็นการปรับขึ้น 1 บาท
- รถโดยสารปรับอากาศ มาตรฐาน 2 (รถโดยสารปรับอากาศชั้น 2 มาตรฐาน EURO หรือเทียบเท่า) ที่เดิมใช้ตารางค่าโดยสารระยะ 0-4 กิโลเมตรแรก 13 บาท ปรับค่าโดยสาร 2 บาททุก 4 กิโลเมตร ค่าโดยสารสูงสุด 25 บาท ใช้อัตราใหม่เป็นระยะ 0-4 กิโลเมตรแรก 14 บาท ปรับค่าโดยสาร 2 บาททุก 4 กิโลเมตร ค่าโดยสารไม่เกิน 26 บาท เป็นการปรับขึ้น 1 บาท
การยกเว้น/ลดหย่อนค่าโดยสาร
การยกเว้น/ลดหย่อนค่าโดยสารสำหรับผู้ถือบัตรประเภทต่าง ๆ นั้นก็ยังคงมีเหมือนเดิม โดยใช้หลักการเดิมก็คือ ให้ยกเว้นค่าโดยสารสำหรับ
- ผู้ตรวจการขนส่ง
- พระภิกษุ สามเณร
- แม่ชี (ที่ถือหนังสือรับรองการบวชจากสำนักปฏิบัติธรรมพร้อมบัตรประชาชน)
- บุรุษไปรษณีย์ในเครื่องแบบ (ขณะปฏิบัติหน้าที่)
- ผู้ถือบัตรประจำตัวพนักงานองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ
และลดหย่อนเฉพาะส่วนของค่าโดยสาร ไม่รวมค่าธรรมเนียมอื่น ๆ สำหรับ
- ผู้ถือบัตรหรือเหรียญตราของทางราชการที่มีระเบียบระบุไว้ว่ามีสิทธิได้รับการลดค่าโดยสารครึ่งราคา ได้แก่
- ผู้ถือบัตรประจำตัวเหรียญชัยสมรภูมิและทายาท
- ผู้ถือบัตรประจำตัวเหรียญงานพระราชสงครามในทวีปยุโรป
- ผู้ถือบัตรประจำตัวเหรียญราชการชายแดน
- ผู้ถือบัตรประจำตัวเหรียญพิทักษ์เสรีชน
- ผู้ถือบัตรประจำตัวทหารผ่านศึกนอกประจำการ บัตรชั้นที่ 1 บัตรชั้นที่ 2 บัตรชั้นที่ 3 และบัตรชั้นที่ 4
- ผู้ถือบัตรประจำตัวครอบครัวทหารผ่านศึก บัตรชั้นที่ 1
- ผู้ถือสมุดคู่มือประจำตัวครอบครัวทหารและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติราชการสนาม กรณีไปทำการรบในงานพระราชสงครามในทวีปยุโรป กรณีพิพาทกับอินโดจีน กรณีสงครามมหาเอเชียบูรพา กรณีสงครามเกาหลี และกรณีสงครามเวียดนาม
- ผู้ถือบัตรประจำตัวครอบครัวทหารผ่านศึกนอกประจำการ บัตรชั้นที่ 1
- ผู้สูงอายุตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 แสดงบัตรประจำตัวประชาชน (เฉพาะรถประจำทางของ ขสมก. และรถของผู้ประกอบการที่เดินรถร่วมกับ ขสมก. เท่านั้น)
- คนพิการทุกประเภท ได้แก่ คนพิการที่เห็นเป็นประจักษ์ หรือคนพิการที่ถือบัตรสมาชิกสมาคมคนพิการสมาคมใดสมาคมหนึ่ง
ในกรณีรถธรรมดานั้น คำนวณค่าโดยสารหลังลดหย่อนง่าย เพราะค่ารถธรรมดาไม่มีค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมแล้ว หากเป็นรถทางด่วน หรือรถบริการกลางคืน สามารถนำค่าโดยสารหารครึ่ง และรวมกับค่าธรรมเนียมเป็นค่าโดยสารที่ต้องจ่ายได้ทันที
ในกรณีรถปรับอากาศนั้น จะมีความซับซ้อนกว่ารถธรรมดาเนื่องจากตัวเลขที่แสดงบนตารางค่าโดยสารรถปรับอากาศนั้นเป็นอัตราที่เป็นค่ารถโดยสารและค่าธรรมเนียมรถปรับอากาศส่วนหนึ่ง (ค่าธรรมเนียมคิดที่ร้อยละ 40 เศษ 1 – 49 สตางค์ปัดทิ้ง เศษ 50 – 99 สตางค์ให้ปัดเป็น 1 บาท) จึงทำให้ขนส่งฯ ต้องออกตารางลดหย่อนของค่าโดยสารรถปรับอากาศขึ้นมาโดยเฉพาะตามตารางต่อไปนี้ และต้องนำไปรวมกับค่าธรรมเนียมรถทางด่วน หรือรถบริการกลางคืนอีกที
ค่าโดยสารรวมค่าธรรมเนียม (ราคาที่แสดงบนตารางค่าโดยสาร) | ค่าธรรมเนียม (ข้อมูลที่แสดงบนตารางคำนวณลดหย่อนของกรมการขนส่งทางบก) | ค่าโดยสาร (ไม่รวมค่าธรรมเนียม) | คำนวณ ค่าโดยสารครึ่งราคา + ค่าธรรมเนียม หากผลคำนวณมีเศษ 1 – 49 สตางค์ปัดทิ้ง เศษ 50 – 99 สตางค์ให้ปัดเป็น 1 บาท | ค่าโดยสารครึ่งราคารวมค่าธรรมเนียม (ราคาที่ต้องจ่าย) |
---|---|---|---|---|
11 | 4 | 7 | 3.5 + 4 = 7.5 | 8 |
12 | 5 | 7 | 3.5 + 4 = 7.5 | 8 |
13 | 5 | 8 | 4 + 5 = 9 | 9 |
14 | 6 | 8 | 4 + 6 = 10 | 10 |
15 | 6 | 9 | 4.5 + 6 = 10.5 | 11 |
16 | 6 | 10 | 5 + 6 = 11 | 11 |
17* | 7 | 10 | 5 + 7 = 12 | 12 |
18 | 7 | 11 | 5.5 + 7 = 12.5 | 13 |
19 | 8 | 11 | 5.5 + 8 = 13.5 | 14 |
20 | 8 | 12 | 6 + 8 = 14 | 14 |
21 | 8 | 13 | 6.5 + 8 = 14.5 | 15 |
22* | 9 | 13 | 6.5 + 9 = 15.5 | 16 |
23 | 9 | 14 | 7 + 9 = 16 | 16 |
24 | 10 | 14 | 7 + 10 = 17 | 17 |
25 | 10 | 15 | 7.5 + 10 = 17.5 | 18 |
26 | 10 | 16 | 8 + 10 = 18 | 18 |
** ราคา 17, 22 บาท ที่แสดงในตารางข้างต้นนี้เป็นราคาตามที่แสดงในตารางค่าโดยสารที่ยังไม่คิดรวมค่าธรรมเนียมทางด่วน ซึ่งอาจจะเกิดความสับสนขึ้นได้ เนื่องจากตารางค่าโดยสารที่ติดบนรถบางสายของ ขสมก. จะแสดงเป็นราคาที่รวมอัตราค่าทางด่วนแล้ว ทำให้ต้องใช้อัตราลดหย่อนของราคา 15, 20 บาท จึงได้ค่าโดยสารที่ลดหย่อนแล้วรวมอัตราค่าทางด่วนเป็น 13, 16 บาท ตามลำดับ **
ทำไมจึงรู้สึกว่าค่ารถขึ้นเยอะ?
ตามข้อมูลที่ได้แสดงไปก่อนหน้านี้ เนื่องจากในการปรับค่าโดยสารครั้งก่อน ขสมก. มิได้มีการปรับค่าโดยสารเช่นเดียวกับรถเอกชนร่วมบริการและผู้ประกอบการอื่น จึงทำให้เกิดช่องว่างของค่าโดยสารอยู่ราว 1 บาท ในการปรับค่าโดยสารครั้งนี้ ขสมก. เลือกที่จะปรับค่าโดยสารให้ใกล้เคียงกับรถเอกชนร่วมบริการและผู้ประกอบการอื่น รวมถึงให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางอนุญาตให้มีส่วนลดได้ จึงทำให้ค่าโดยสารขึ้นมาราว ๆ 2 บาทนั่นเอง ไม่นับรวมรถปรับอากาศรุ่นใหม่ ที่มีการประกาศใช้บันไดค่าโดยสารแบบใหม่เหลือแค่ 3 ราคา จึงทำให้ค่ารถโดยสารโดยรวมถีบขึ้น 4-7 บาท
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.