เส้นทางรถเมล์ใน Berlin

ผมได้เดินทางไปเยือนกรุงเบอร์ลินครั้งแรก เมื่อราว 6 ปีที่แล้ว ตอนที่ไปดูป้ายรถเมล์ที่นั่นก็เหมือนเมืองอื่น ๆ ในสหพันธรัฐเยอรมนีนั่นแหละ คือมีการแสดงเวลาถึงป้ายจุดหมายปลายทางชัดเจน แต่สิ่งที่เมืองนี้ต่างออกไปเมื่อเปรียบเทียบกับเมืองอื่นที่เคยไปก็คือ มีประเภทรถเมล์เยอะมาก ไม่จำกัดแค่ตัวเลข เมื่อไปค้นคว้าต่อเห็นว่าน่าสนใจจึงขอเอามาแบ่งปันให้ได้อ่านกัน เผื่อว่าการออกเส้นทางรถ (ซึ่งไม่รู้ว่าเสร็จหรือยัง เพราะไม่มีประกาศลงในราชกิจจานุเบกษามาหลายปีแล้ว) ใหม่นั้นจะใช้ระบบวิธีคิดนี้

ข้อมูลจากวิกิพีเดียภาษาอังกฤษ ในกรุงเบอร์ลิน นอกจากรถประจำทางแล้ว ยังมีระบบขนส่งมวลชนแบบรางได้แก่ รถราง (Tram) รถไฟใต้ดิน (U-Bahn) และรถไฟชานเมือง (S-Bahn) ทั้งนี้ยังไม่นับรวมระบบอื่นเช่น รถไฟภูมิภาค (RB/RE), รถไฟข้ามเมือง (IC), รถไฟข้ามเมืองด่วน (ICE), เรือเฟอร์นี่ เส้นทางรถประจำทางถูกออกแบบมารองรับกับระบบขนส่งรางเหล่านี้ โดยแบ่งเป็นกลุ่มดังนี้

  • รถธรรมดา เลขสาย 100-399
  • รถ MetroBus จำนวน 17 เส้นทาง (เลขสายขึ้นต้นด้วย M)
  • รถ ExpressBus จำนวน 13 เส้นทาง (เลขสายขึ้นต้นด้วย X)
  • รถ NightBus จำนวน 45 เส้นทาง (เลขสายขึ้นต้นด้วย N)

รายละเอียดของรถแต่ประเภท

รถโดยสารธรรมดา คือรถที่วิ่งในเขตอำเภอ หรือข้ามเขตอำเภอ โดยเลขสายหลักที่ 2 เป็นตัวกำหนดว่าเป็นรถที่อยู่ในเขตอำเภอใด (มี 0, 1 ที่เว้นไว้ให้เป็นรถกลุ่มพิเศษ) ประเภทรถที่ให้บริการเป็นได้ตั้งแต่รถตอนเดียว, รถพ่วง ไปจนถึงรถสองชั้น

MetroBus เกิดขึ้นในช่วงการแบ่งแยกกรุงเบอร์ลินเนื่องมาจากกำแพงเบอร์ลิน แทนที่การให้บริการรถรางบางสายทางเดิมซึ่งถูกปิดกั้นการเดินรถในฝั่งเบอร์ลินตะวันตก ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อเกิดการรวมชาติสาย MetroBus ก็ยังคงให้บริการอยู่เช่นเดิม

ExpressBus ถ้าเปรียบเทียบก็คือเส้นทางรถเมล์เร็วพิเศษ จุดประสงค์ของเส้นทางคือ จอดให้น้อยป้าย และเน้นเป็นเส้นทางจากนอกเขตเมืองเข้าเมือง รวมถึงส่งระหว่างเมืองและสนามบิน ซึ่งในเมืองอื่นอาจจะมีชื่อเรียกที่ต่างไป ได้แก่ City-Express, DirektBus, Eilbus, Schnellbus, Sprinterbus, Städteschnellbus

NightBus คือรถกะสว่างนั่นเอง สำหรับกรุงเบอร์ลินมีเส้นทาง 2 แบบคือ เส้นทางที่แทน U-Bahn ในวันธรรมดา (วันหยุด U-Bahn ให้บริการ 24 ชั่วโมง) จำนวน 9 เส้นทาง (N1-N9) และที่เหลือคือเส้นทางที่ทดแทนรถธรรมดา เนื่องจากในเยอรมนีไม่ได้มีการปล่อยให้รถธรรมดาเดินรถ 24 ชั่วโมง ซึ่งทุกเมืองที่ผมเคยไปเยือนล้วนมีรถ NightBus ให้บริการ แต่ในบางเมืองจะให้บริการ NightBus เฉพาะสุดสัปดาห์ (คืนเช้าวันเสาร์-อาทิตย์) เท่านั้น และโดยส่วนใหญ่เส้นทาง NightBus จะเป็นการยำใหญ่ช่วงเส้นทางรถโดยสารธรรมดามากกว่าการที่ใช้เส้นทางรถธรรมดาสายใดสายหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความครอบคลุมของเส้นทางในยามวิกาลนั่นเอง (แน่นอนว่ามันก็ไม่ถึงขั้นไปทุกตรอกซอกซอยหรอก แต่พอจะลงรถเดินไปต่อได้)

ข้อสังเกตในระบบเส้นทางแบบเบอร์ลิน

การกำหนดกลุ่มรถ และหลักที่ 2 ของเลขสายเพื่อใช้แบ่งพื้นที่บริการของสายการเดินรถนั้น ช่วยบอกวัตถุประสงค์ของเส้นทางให้ชัดเจน เป็นการกำหนดกรอบในการปรับเปลี่ยนเส้นทางในอนาคตเพื่อให้เส้นทางที่ปรับปรุง ไม่ผิดไปจากวัตถุประสงค์ของการออกเส้นทางเดิม การเดินรถเฉพาะในพื้นที่ให้บริการของตัวเองทำให้สามารถหมุนเวียนรถได้ดี ลดการขาดระยะของรถ (หากไม่ได้ใส่จำนวนรถน้อยเกินไปหรือกำหนดความถี่ของรถให้นานเกิน)

เปรียบเทียบกับเส้นทาง 155 ที่ประกาศออกมา

เมื่อเปรียบเทียบกับเส้นทางที่เคยมีประกาศออกมา ก็พบว่ามีลักษณะที่เข้าเค้านี้ 3 อย่าง คือ รถธรรมดา, ExpressBus นั่นเอง แต่เรื่องวิธีคิดเลขสายนั้นยังค่อนข้างไม่เป็นระบบระเบียบเท่าไร ออกจะเป็นการใช้สายรถเดิมมาเพิ่มเลขแทน แล้วก็แบ่งช่วงเลขสายเป็นกลุ่มชัดเจน ซึ่งหากจะปรับให้เข้ากับระบบนี้ก็อาจจะต้องเพิ่มสาย NightBus ขึ้นมา รวมถึงอาจจะเพิ่มตัวย่อพิเศษอย่างเช่น CL, L, ML เพื่อระบุว่าสายนี้มีการเดินรถรถเป็นวงกลม ซึ่งอาจจะช่วยให้ผู้โดยสารเข้าใจลักษณะของเส้นทางได้ดีขึ้น

ดังนั้นถ้าเราจะทำเส้นทางให้คล้าย ๆ ของที่เบอร์ลิน เราก็อาจจะต้องแบ่งพื้นที่ให้บริการรถออกเป็น 8 เขตเสียก่อน (เว้นไว้ 2 เผื่อจะใช้กำหนดลักษณะพิเศษอื่น ๆ) ซึ่งจากลักษณะนี้ก็เท่ากับ 8 เขตการเดินรถพอดี จากนั้นจึง

  • แยกรถทางด่วน (ทั้งสายปรกติและสายเฉพาะกิจ) ออกมาเป็นสาย X โดยอาจจะไม่ต้องจอดน้อยป้ายก็ได้ (X1-X30 หรือมากกว่านั้น)
  • แยกสายวงกลม (CL1-CL10 หรือมากกว่านั้น)
  • แยกเส้นทางรถกะสว่าง ซึ่งอาจจะปรับเปลี่ยนเส้นทางของรถเดิมเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ดีขึ้น หรือจะยกเส้นทางรถสายเดิมมาใช้เลยก็ได้ (N1-N20 หรือมากกว่านั้น)

สุดท้ายก็จัดลำดับเลขสายกันใหม่ ติดเลขใหม่ประกบไปกับเลขเก่าซักครึ่งปีแล้วทำสลับกันครบปีก็แกะเลขเก่าออก ก็น่าจะเปลี่ยนผ่านระบบเลขแบบเดิมได้


Posted

in

by

Comments

Leave a Reply